ผมลุกขึ้นมาเขียนเรียงความนี้เพราะคำถามหนึ่งคำถามของผู้ชายที่ชื่อบุญส่ง นาคภู่ "เจ๋ง เอ็งอยู่กะพี่มานานแค่ไหนแล้ว" ผมตอบไปแบบไม่คิด "เกือบสองปีแล้วมั้งพี่" ซึ่งความรู้สึกในขณะที่ตอบ มันรู้สึกว่ายาวนานขนาดนั้นจริงๆ แต่พอมานั่งนึกดูดีๆนับตั้งแต่ชายผู้นี้เอ่ยปากชวนผมว่า "ไปทำหนังกับพี่ไหม" "ครับพี่" คือคำตอบของผม นับแต่วันนั้นจนวันนี้เพิ่งจะผ่านไปแค่ปีเดียวเอง จาก"คนจนผู้ยิ่งใหญ่" "สถานี 4 ภาค" จนมาถึง"คืนฝนไฟ"และการเกิดใหม่ของ”ปลาเป็นว่ายทวนน้ำ”
นับตั้งแต่คำชวนในวันนั้น ชายผู้นี้จากที่เคยเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียน ก็เพิ่มความเป็นเพื่อนร่วมงาน เป็นพี่ชายและที่สำคัญเป็นครูเข้าไปด้วย การได้ทำงานกับเขาคือบทเรียนชั้นดีสำหรับผู้ฝันอยากเล่าเรื่องเป็นภาพเคลื่อนไหวอย่างผม “ถ้าเอ็งอยากเรียนรู้เรื่องหนังเอ็งต้องทำหนัง” ซึ่งเป็นคำพูดที่จริงมากทีเดียว โรงเรียนภาพยนตร์ของผมเริ่มจริงๆก็ที่นี่แหละ โรงเรียนที่ชื่อ “กองถ่ายหนัง” ในกองถ่ายหนังคนจนผู้ยิ่งใหญ่ผมถูกมอบหมายให้จัดหาอุปกรณ์ประกอบฉากและช่วยงานอื่นๆแล้วแต่จะทำได้ ซึ่งแน่นอนผมไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน โรงเรียนแห่งนี้สอนให้ผมรู้จักหนัง ทำให้ผมมองเห็นและเข้าใจว่าการทำหนังเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสเอาการอยู่ บางครั้งเราต้องทำหน้าที่หลายอย่าง ซึ่งเสี่ยงต่อการผิดพลาด แต่มันก็ทำให้เราเรียนรู้ในงานต่างๆ และพัฒนาตัวเองไป มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยกว่าที่หนังหนึ่งเรื่องจะเสร็จออกมาแต่ละเรื่องและยิ่งหนังที่มีทุนจำกัดแบบนี้มันต้องอาศัยทั้งแรงกายและแรงใจซึ่งไม่ใช่ของคนๆเดียวแต่หมายถึงคนทั้งกองถ่าย ถ้าเราไม่เชื่อมั่นในตัวผู้กำกับเราจะทำมันสำเร็จได้อย่างไรท่ามกลางความขาดแคลนไปเสียทุกอย่างเช่นนี้
ในกองถ่ายคนจนผู้ยิ่งใหญ่เรามีข้อจำกัดมากมาย ตั้งแต่งบประมาณที่น้อยนิดเมื่อเทียบกับหนังทั่วไป สมาชิกในกองถ่ายมีแค่ 10 คนและมีไม่ถึงครึ่งที่เคยทำหนังมาก่อน นั่นหมายความว่าแต่ละคนต้องทำหน้าที่มากกว่าหนึ่งอย่าง ถึงขนาดที่ว่านักแสดงใครที่ยังไม่เข้าฉากต้องมาช่วยยกของ กางร่ม ยกน้ำ กั้นรถ หาพร็อป สารพัด ยกตัวอย่าง “ไอ้สอน” ตัวเอกคนหนึ่งในเรื่อง เวลาจะย้ายโลเคชั่นแต่ละที ต้องดูแลกระติกน้ำเดินตุเลงตุเลงไปด้วย สภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวต้นเดือนพฤษภาคม เราต้องหยุดพักช่วงบ่ายเพราะทนความร้อนไม่ไหวทั้งทีมงานทั้งกล้อง และเวลาที่งวดเข้ามาทุกทีซึ่งทีมงานบางคนต้องกลับกรุงเทพเพราะมีงานต่อและเข้าใกล้หน้าฝนทุกขณะซึ่งเป็นหายนะของกองถ่ายหนังอินดี้อย่างเราที่ไม่สารถรอได้ หนังเรื่องแรกของผมก็ต้องมาเจอกับความทรหดเช่นนี้ และมันก็ผ่านไปได้ด้วยดีด้วยความทุลักทุเล
มีคำพูดหนึ่งที่ชายผู้นี้มักพูดเสมอๆ “ถ้าเราทำหนัง หนังมันจะเลี้ยงเรา ขอให้ทำมันสุดหัวใจเถอะ” ซึ่งเป็นเรื่องที่จริงอย่างมาก ในระหว่างที่กำลังตัดต่อคนจนผู้ยิง่ใหญ่อยู่นั้น เราก็ได้รับแจ้งว่ากระทรวงวัฒนธรรมให้ทุนทำหนัง “สถานี 4 ภาค” ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันคำพูดนี้ได้ดี เขาเคยพูดว่า “พี่มัวเสียเวลากับหนังในระบบตั้ง 10 ปี ทั้งๆที่ควรจะลุกขึ้นมาทำเองตั้งนานแล้ว ในยุคนี้ถ้าใครมัวแต่รอให้คนอื่นมาจ้างน่ะโง่ เราต้องสร้างงานเอง ถ้าหนังเราดีจริง อย่างอื่นมันจะตามมาเองนั่นแหละ ยุคนี้ยุคดิจิต้อล มีกล้องตัวเดียวก็ทำหนังได้แล้ว” พี่แกก็เลยทำหนังแบบไม่ยั้งเลย
แน่นอนผมเคยคิดว่าการทำหนังคือความเท่ มีคนถามว่าเราทำงานอะไร เราก็บอกเขาว่าเราทำหนัง ซึ่งมักจะมีเสียงชื่นชมกลับมาให้เราได้ยืดอก และเขาก็ถามต่อ “ทำเรื่องอะไรมามั่ง งี้ก็เจอดาราเยอะน่ะสิ” และผมก็ได้แต่บอกว่าผมทำหนังอินดี้ทำหนังอิสระไม่เจอดาราหรอกมีแต่ชาวบ้าน และก็ต้องอธิบายต่อว่าไอ้หนังอินดี้มันคืออะไรยืดยาว ซึ่งเขาก็ไม่เข้าใจ แล้วความเท่มันจะอยู่ตรงไหนล่ะ “ถ้าคิดว่ามาทำหนังกับปลาเป็นฯ แล้วเท่น่ะคิดผิด” ชายที่ชื่อบุญส่ง เขาบอกไว้ “ถ้าทำหนังในกระแสน่ะเท่ใช่ แต่คนทำหนังแบบเราคนรู้จักน้อยมาก” ซึ่งก็จริงของเขา การทำหนังกับปลาเป็นฯ เป็นเรื่องที่เลิกคิดเรื่องความเท่ไปได้เลย เมื่อวันก่อนมีน้องคนหนึ่งซึ่งอยากมาฝึกงานกับเราในหนังเรื่องใหม่ เราถามเขาไปว่าทำไมไม่ไปฝึกกับกองถ่ายใหญ่ๆล่ะ คำตอบที่ได้กลับมาก็คือ “อยู่กองถ่ายใหญ่ๆผมคงได้ไปกั้นรถ คงเข้าถึงตัวผู้กำกับยากมาก แต่กับของพี่ผมเข้าถึงตัวผู้กำกับได้เลย” ซึ่งเราก็หัวเราะและคิดว่าจริงของเขา อยู่กับเราได้ทำงานสมใจแน่
กลับมาสู่คำถามเดิมที่เขาเคยถามผม "เจ๋ง เอ็งอยู่กะพี่มานานแค่ไหนแล้ว" ภาพต่างๆมากมายไหลเวียนเข้ามาในหัวสมอง ผมจากคนหาพร็อป เป็นคนตัดต่อ เป็นคอนตินิว เป็นตากล้อง เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ เป็กรรมกร เป็นทุกอย่าง แต่ไม่ดีสักอย่าง หนึ่งปีที่ผ่านมา มีผู้คนมากหน้าหลายตาผ่านเข้ามาและผ่านเลยไปทั้งมิตรผู้หวังดีและผู้หวังไม่ดี เราเจอความยากลำบากมาพอสมควรและแน่นอนย่อมจะเจอต่อไปตราบใดที่เรายังทำหนังกันอยู่ ความยากลำบากมันไม่เคยหมดไปหรอก เพราะลมหายใจของเราทั้งเข้าออกคือหนัง เพราะปลาที่ยังมีชีวิตอย่างเราต้องฝ่ากระแสธาราแห่งทุนนิยมไปสู่ปลายทางต้นน้ำ หาที่วางใข่สร้างแรงบันดาลใจแก่นักทำหนังรุ่นใหม่ได้สร้างเรื่องราวของตนเองด้วยความเชื่อมั้นและเป็นพลังผลักดันโลกไปขางหน้าสืบไป
"เจ๋ง เอ็งอยู่กะพี่มานานแค่ไหนแล้ว"
“นานแค่ไหนช่างมันพี่ แต่ตอนนี้ไปทำหนังกันเถอะ!”
13 มีนาคม 2554
เอกลักษณ์ อนันตสมบูรณ์
การทำหนังที่ไม่ทำตามกระแส ก็แทบไม่มีใครสนใจอยู่แล้ว แต่ความน่าสนใจของหนังประเภทนี้ คือ "ความฝัน" ซึ่งแทบจะหาไม่ได้ในสังคมไทยที่นับวันมีแต่จะเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน "ความฝัน" แบบนี้เป็น"แรงบันดาลใจ"ให้คนที่ยังคิดที่จะสร้างหนังทวนกระแสสังคมทุกวันนี้ ได้มีแรงกายและแรงใจสร้างหนังที่ให้ข้อคิดดีๆ มากมาย เป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้น่ะค่ะ อยากให้หนังประเภทนี้ ออกมาตีแผ่สังคมไทยให้มากขึ้นค่ะ จะได้ให้คนเราได้หยุดคิดอะไรบ้าง ไม่มากก็น้อย ....
ReplyDeleteผมอยากฉายหนังทวนกระแสเหมือนกันครับ ถ้าเป็นไปได้ก็ขอเสนอตัวเป็นช่องทางหนึ่ง
ReplyDeleteในการถ่ายทอดออกสู่สังคมครับผม (สงสัยผมจะตอบช้าไปหน่อย ตั้งแต่ปี 48ครับ)
ธวัชชัยภาพยนตร์ สระบุรี