ขณะนี้ เวลา 17.00 น. ผมนั่งอยู่ในสนามบินจังหวัดอุบลราชธานี รอขึ้นเครื่องบินกลับกรุงเทพ ฯ เที่ยวเวลา 19.55 น. ผู้คนหลากหลายผ่านเข้าออกรอคอยประปรายไม่ขาดสาย ทุกการเดินทางคือการค้นหาความหมายของการดำรงอยู่ ชีวิตต้องเคลื่อนไหว ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง มิเช่นนั้นก็ไร้ชีวิต ในห้วงสำนึกและความทรงจำของผม ภาพการตะลอนฉายหนัง “คนจนผู้ยิ่งใหญ่” แบบต่อเนื่องรวดเดียว 4 รอบ 4 มหาวิทยาลัย และ 4 อารมณ์ความรู้สึกยังคุกรุ่นอบอวลแจ่มชัด ทั้งหมดเป็นการหลอมรวมแห่งแรงบันดาลใจไฟฝัน “เป็นประสบการณ์พิเศษในชีวิตที่ได้ดูหนังบริสุทธิ์งดงาม” ใครคนหนึ่งกระซิบบอกผม หลังหนังจบ เช่นเดียวกัน สองวันที่เพิ่งผันผ่าน ท่ามกลางความวุ่นวายและการทำนั่นทำนี่โกลาหล เป็นการเดินทางอันเปี่ยมไปด้วยพลังบันดาลใจสำหรับผม
สัก 3-4 สัปดาห์ก่อน ผมได้ขอความช่วยเหลือพี่ไพฑูรย์ ธัญญา อาจารย์และนักเขียนซีไรท์รวมเรื่องสั้นชุด “ก่อกองทราย” ผู้กว้างขวางให้ช่วยติดต่อทาบทาม ผมไม่รู้จักแกเป็นการส่วนตัว แต่เป็นแฟนหนังสือแกมานาน ผมอ่านหนังสือของแกแทบทุกเล่ม ชื่นชอบในมุมองชีวิตและภาษาแห่งนักเลงใต้ มารู้จักกันจริงจังก็ตอนที่ขอลิขสิทธิ์เรื่องสั้นแกมาทำหนัง แต่กระนั้น เราก็เหมือนรู้จักมักคุ้นกันมานาน เพียงชั่วเอื้อนเอ่ยถ้อยคำ และด้วยไฟแห่งนักเขียนผู้กระตือรือร้น แกก็ใช้บารมีของอาจารย์โทรหาและผลักดันลูกศิษย์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสารคาม มหาวิทยาลัยสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบล และมหาวิทยาลัยอุบลทันที ที่พิเศษทวีคูณก็คือ ที่มหาวิทยาลัยสารคามยังมีอาจารย์ปรีชา สาคร อาจารย์หนุ่มไฟแรงและรักหนังมาช่วยดำเนินงานอย่างเต็มที่ด้วยอีกคน ในท้ายที่สุด พวกเราทุกคนก็เลยร่วมกันจัดเสียให้รู้เรื่องรู้ราวไป ด้วยพลังแห่งคนหนุ่มและคนเริ่มแก่ที่ล้วนแต่ไฟแรงรักหนัง งานนี้ไม่สนุกไม่มี
ผมเดินทางถึงมหาสารคามเกือบสว่าง พอลงจากรถ พี่ไพฑูรย์ก็เดินรี่เข้ามาหา แว่บแรกแปลกใจ แต่พอได้ยินเสียงก็จดจำได้ เราเคยคุยกันหลายครั้งทางโทรศัพท์ แกขับรถไปส่งถึงโรงแรม เปิดห้องให้ผมนอนพักเอาแรง มารับอีกทีเกือบเที่ยง แล้วพาไปกินมื้อกลางวัน ข้าวเหนียว ไก่ย่าง ส้มตำ และลาบหมู ที่นั่น ผมได้พบกับเมียพี่ไพฑูรย์ และคนร่วมจัดงานอีกหลายคน พวกเขาเรียกตัวเองว่า กลุ่ม “E-san short film” นำทีมโดยอาจารย์ปรีชา สาคร ชุปเปอร์ และวรวุฒิ หลักชัยที่สู้อุตส่าห์ขับรถมาเองจากอุดรธานีเพื่องานนี้โดยเฉพาะ ส่วนหนุ่มสาวอีกคู่เป็นผัวหนุ่มเมียสาวจากถิ่นใต้ ทีแรกจำไม่ได้ ต่อมาจึงสืบทราบ ว่าชื่ออุเทน ศรีริวิ ไม่คาดคิดจะเจอที่นี่ แต่ก็เจอ ต้องขอบคุณปาฎิหาริย์แห่งเฟสบุ๊คที่นำพาพวกเราให้โคจรมาพบกัน เป็นอันว่า พวกเราได้มารวมตัวกันและแลกเปลี่ยนมิตรภาพกันเป็นที่เรียบร้อย
หลังจากนั่งคุยหลากหลายเรื่องราวกับวรวุฒิสองชั่วโมงเศษ เวลาแห่งการรอคอยก็มาถึง เวลาแห่งการฉายหนังของพวกเรา มิใช่ “คนจนผู้ยิ่งใหญ่” ของผมเรื่องเดียว แต่ยังมีหนังสั้นอีก 3 เรื่องผลงานของกลุ่ม “E-san short film” ด้วย แต่ที่พิเศษกว่าก็คือ การฉายในโรงหนังที่เพิ่งจะเสร็จใหม่หมาดสียังไม่ทันแห้ง และน้อง ๆ ก็ซื้อตั๋วราคา 30 บาทเข้ามาดูด้วยความเต็มใจ ธรรมชาติของการเสียเงินซื้อตั๋ว คือ การฉกฉวยเอาประโยชน์ให้คุ้มค่า ความตื่นเต้นของพวกเรา มิใช่เพียงผม ก็คือ นี่เป็นครั้งแรกที่หนังของพวกเราขายตั๋วได้ แม้จะนับเป็นเงินได้ไม่กี่บาท แต่มันคุณค่าด้านจิตใจที่หาสิ่งใดมาวาดวัดไม่ได้ ผมอยากจะบอกว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพราะบารมีและการทุ่มเทของอาจารย์ปรีชาและพี่ไพฑูรย์โดยแท้ คุณูปการอันทรงคุณค่ายิ่งของการรวมตัวกันของพวกเราคราวนี้ ก็คือ พวกเรามีโครงการทำหนังอันแสนงดงามยิ่งด้วยกันถึง 2 โครงการ นั่นคือ กลุ่มอีสานช้อตฟิล์มต้องไปหาเรื่องสั้นจากนักเขียนอีสานมาทำหนังสั้น เพื่อฉายราว ๆ กลางปีพร้อมกับหนัง “สถานี 4 ภาค” ของผม เราจะตระเวนฉายกันทั่วภาคอีสานแบบแพ็คเกต ส่วนผมต้องเอานิยาย “คืนฝนไฟ” ของพี่ไพฑูรย์ ธัญญามาทำหนังยาว เพื่อฉายทั่วประเทศไทยและทั่วโลก
หนังสั้นทั้งสาม ทำหน้าที่เป็นหนังโหมโรง ฉายก่อนหนังผม พอจบ คณบดีก็มากล่าวเปิดงาน จากนั้น หนังผมก็ฉาย ที่นั่งในโรงหนังเล่นระดับเป็นขั้นบันได แสงจากโปรเจ็คเตอร์ส่องสว่างไปที่จอผนังชั่วคราวด้านล่าง ไฟทุกดวงดับลง ความเงียบปกคลุมไปทั่ว แม้ระบบเสียงและจอจะยังไม่สมบูรณ์เต็มร้อย แต่ความจริงใจของพวกเราก็เอาชนะทุกอย่าง ผู้ชมอิ่มเอิบหัวใจ หัวใจพวกเราเต้นระส่ำ มิใช่เพราะหวาดกลัว แต่เพราะตื่นเต้นเร้าใจ เสียงหัวเราะของผู้ชม แม้เพียงแผ่วเบา ก็สะท้านสะเทือนหัวใจของพวกเรา โมเดลการจัดฉายหนังแบบนี้มันก่อร่างวูบไหวในหัวใจเรา สังเคราะห์เป็นไฟฝันทะเยอทะยานสำหรับครั้งหน้า ทุกอย่างจะต้องสมบูรณ์ ปัญหาจะต้องหมดไป หนังพวกเราต้องสนุกและดีมากกว่าเดิม ผู้ชมต้องมากกว่านี้อีก กิจกรรมสร้างสรรค์เช่นนี้จะต้องมีต่อไป เพราะมันคือวิถีแห่งอิสรภาพแท้จริงในโลกของทำหนัง หนังจบ สิ้นเสียงปรบมือ พวกเรายกทีมขึ้นเวที เพื่อตอบคำถามผู้ชม ไม่มีใครถาม พวกเราก็ถามเองตอบเอง หัวเราะ ดื่มด่ำ สนุกสนานครื้นเครงกันไป ตลอดชั่วสามชั่วโมงเศษในโรงหนังใหม่เอี่ยมแห่งนั้น แม้แรงบันดาลใจใฝ่ฝันจะยังไม่สนิทแนบแน่นในสำนึกของใคร แต่มันเต็มเปี่ยมในหัวใจผม
มารู้ตัวอีกที ฟ้าก็มืดมิดเสียแล้ว แต่พวกเราไม่อาจเย็นใจไม่ได้ เพราะต้องรีบเดินทางไปมหาวิทยาลัยราชภัฏสารคามต่อ เพื่อฉายอีกรอบ ที่นั่นกำลังระส่ำระสาย เพราะน้อง ๆ ที่ซื้อตั๋วล่วงหน้าจะรอไม่ไหวแล้ว บางส่วนก็กลับกันแล้ว การแสดงที่อาจารย์จัดแสดงเพื่อฆ่าเวลา ก็แสดงจนไม่รู้จะแสดงยังไงแล้ว ผมกับวรวุฒิก็ดันหลงทางอีก ผมจะทำสิ่งใดเพื่อไถ่ถอนความผิดครั้งนี้ได้ ต้องขอโทษผู้จัดจริง ๆ ครั้นไปถึง แทนที่จะได้ฉายทันที ก็มีปัญหาเฉพาะหน้าให้แก้อีก เพราะสายโปรเจ็คเตอร์ขาด สายเสียงก็มาไม่ถึง เครื่องฉายก็เล่นแผ่นไม่ได้ ต้องใช้โน้ตบุ้คของผมฉายแทน และต้องย้ายไปตั้งใกล้ ๆ ลำโพงขนาดใหญ่โตดังกระหึ่มไม่ต่างกับระบบเสียงของหมอลำซิ่ง ผมมองไปทางเวที มันว่างเปล่า เหลือร่องรอยการแสดงบ้างประปราย ที่นั่งมิใช่เก้าอี้ แต่เป็นก้อนปูนที่คณะศิลปินช่วยกันออกแบบไว้ มีมากมายละลานตาหลายร้อย ที่นี่เป็นเวทีกลางแจ้งที่ขรึมขลังราวกับเวทีละครของกรีกโบราณ จอหนังที่ห้อยย้อยนั่นมิใช่จอหนังจริง แต่เป็นอีกด้านของแผ่นป้ายโฆษณาที่พลิกกลับอีกด้าน คนดูเหลือรอดอยู่ดูเพียงกลุ่มเดียวสัก 30 คนน่าจะได้ แต่ดูเหมือนแววตาจะเต็มไปด้วยความตื่นเต้นสนใจ แต่เมื่อทุกอย่างลงตัวพร้อมฉาย ความอิ่มเอิบก็เกิดขึ้น จอชั่วคราวนั่นเวิร์คมาก เครื่องฉายก็เป็นระบบ Full HD ชัดแจ๋ว จอก็ขยายกว้างกว่าปกติ ระบบเสียงก็ดังกระหึ่มกึกก้อง ขนาดนั่งดูระยะไกลเกือบหกสิบเมตร มันก็ยังให้อารมณ์เอิบอิ่มราวกับได้เข้าไปนั่งในจอหนัง เราทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกัน หากในโรงหนังเมื่อบ่ายที่มหาวิทยาลัยสารคามเป็นแบบนี้จะทรงพลังอิ่มเอิบกว่านี้อีกหลายเท่าทีเดียว ทีนี้ ก็ชัดเจนแล้วว่า ความชัดเจนแจ่มแจ๋วของภาพในหนังนั้น มันสำคัญต่อการดูและการดื่มด่ำสักเพียงไหน
หลังหนังจบ ต้องพบปะและตอบคำถามคนดูเป็นธรรมเนียม จะมีสักกี่ครั้งในโลกการทำหนัง ที่ผู้กำกับถือหนังมาฉายและพบปะคนดูด้วยตัวเอง ผมเริ่มจะเบื่อ ๆ เหมือนกันแล้ว เพราะต้องทำซ้ำหลายครั้งและคนดูไทยนั้นก็ไม่ค่อยซักค่อยถามเอาเลย หัวใจนั้นลอยไปอยู่ที่การทำหนังเรื่องใหม่เสียแล้ว แล้วบรรดาพี่ ๆ น้อง ๆ ชาวเราก็เดินทางไปกินข้าวต้มกัน สังสรรค์เสวนาแลกเปลี่ยนและกระชับมิตรภาพ และแยกย้ายกันไปตามทาง พี่ไพฑูรย์กับอาจารย์ปรีชาต้องกลับบ้านเพื่อตื่นขึ้นมาสอนหนังสือต่อ น้องอุเทนกับเมียสาวต้องเดินทางกลับใต้ ส่วนวรวุฒิถูกบังคับบีฑาให้ขับรถไปส่งผมที่ราชภัฏอุบลราชธานีนู่น ห่างจากที่นี่ 200 กิโลเมตร วรวุฒิอยากบ่น แต่ไม่มีทางเลือก นั่นยิ่งนับเป็นคุณูปการอันยิ่งใหญ่ ทุกย่างก้าวคือการเรียนรู้ พยายามปลอบใจน้องเขา ทั้ง ๆ ที่จะหลับมิหลับแหล่เพราะฤทธิ์เบียร์ เราคุยกันตลอดทางเรื่องหนังและสารพัดเรื่องราวของชีวิต นั่นเป็นอีกข้อดีของการทำหนัง ราวตี 2 เราก็ถึงโรงแรมในราชภัฏอุบล วรวุฒิเดินทางต่อไปพักกับเพื่อน ส่วนผมนอนหลับด้วยความอ่อนล้าตามลำพังในที่แปลกตา
เช้าตรู่วันต่อมา ผมต้องตื่นแต่เช้า เพราะต้องรีบไปตรวจเช็คอุปกรณ์การฉาย อุบลกลางวันกับกลางคืนต่างกันเห็นได้ชัด ความเจริญแผ่ไปทุกพื้นที่ หากมองดูตึกรามและรถราไม่มีสิ่งใดต่างจากที่อื่น ป้ายชื่อและสำเนียงพูดเท่านั้นที่ต่างแตกและพอจะแยกแยะได้บ้าง อาจารย์หนุ่มคนที่อื่นขับรถมารับผมตรงดิ่งไปหอประชุมที่จะฉายหนัง ปรากฏว่า น้อง ๆ คนดูเริ่มทยอยมากันแล้ว และเต็มตาหนาแน่นอย่างรวดเร็ว ครั้งแรกที่มีการฉายหนังแบบนี้ที่นี่ แต่มิใช่ครั้งแรกที่ฉายหนัง ผู้กำกับมาเองและเป็นหนังแปลก ๆ หนังนอกกระแส นับเนื่องคนดูทั้งหอประชุมได้สัก 300 คนขึ้นไป ใจผมสนุกสนานยิ่งนักกับการเตรียมงานที่ยอดเยี่ยมและน่ารักของที่นี่ คนที่อยู่เบื้องหลังงานนี้ชื่ออาจารย์นิศานารถ แกต้องโอนงานให้อาจารย์อื่นสานต่อเพราะต้องไปจัดการงานศพญาติแบบฉับพลัน แม้เบื้องหลังจะเป็นการบังคับให้มาดูด้วยเงื่อนไขใด ๆ แต่ห้องประชุมก็หนาแน่นล้นทะลักไปด้วยคนดูแล้ว สิ่งใดอื่นไม่มีค่าจะไปใส่ใจอีกให้รกสมอง และเป็นครั้งแรกที่การตะลอนทัวร์ต่างจังหวัดของหนัง “คนจนผู้ยิ่งใหญ่” มีคนดูเยอะขนาดนี้ หลังหนังจบผมขึ้นตอบคำถามและพูดคุยให้กำลังใจน้อง ๆ อย่างเต็มหัวใจไม่เคยพูดอะไรที่มันเต็มที่แบบนี้มาก่อน ยืนยันว่า คนดูนั้นสำคัญยิ่งนัก ดูจากปฏิกิริยาคนดูที่มองมาแทบไม่มีใครไม่ชอบหนังเรื่องนี้ อย่างน้อยก็ในทางใดทางหนึ่ง ส่วนคนที่ไม่ชอบนั้นเงียบกริบเก็บความรู้สึกเป็นความลับ หลายคนบอกว่ามันแปลกดี ติดดินเอามาก ๆ จริงจัง มันเกือบจะเป็นสารคดีอยู่แล้ว ข้อกังวลว่าคนดูจะเบื่อเสียก่อน เพราะความเนิบช้าของหนังนั้นไม่มีใครเอ่ยถึง สำหรับการดูครั้งแรกมีแต่ความแปลกตาตื่นใจ ด้วยทุนอันน้อยนิดและความก้าวหน้าอย่างล้นหลามของเทคโนโลยีในการสร้าง ผมประกาศเสียงดังมั่นใจอีกครั้ง การทำหนังไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป และถึงเวลาที่เราจะลุกขึ้นมาปฏิวัติกันแล้ว หนังต้องอยู่ในมือคนธรรมดาสามัญอย่างเรา ๆ เรื่องราวหลากหลายที่น่าสนใจและมีคุณค่าต้องได้รับการหยิบยกขึ้นมาสร้าง อำนาจต้องกลับมาอยู่ในมือของเรา ผมเชื่อเช่นนั้น
รอบต่อมาบ่ายวันนั้นค่อนข้างซบเซา เพราะคนดูน้อยนิด แถมการฉายก็ฉายในห้องเรียน คนดูมีพลังเสมอ แต่ดีหน่อยตรงที่แทบทุกคนเป็นดูที่แท้จริง มิได้ถูกบังคับมาดูกติกาบางอย่าง หลังจากการซักถาม มีอาจารย์นักวิจารณ์รางวัลบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ออกมาวิจารณ์ด้วย แกช่างแยกแยะจับนู่นมาผสมนี่น่าสนใจดี จับความแบบเข้าข้างตัวเองได้ว่า โดยรวมหนังดี แม้จะไม่มีการชื่นชมตรง ๆ เพราะสิ่งที่ไม่ดีไม่ได้พูดถึง นับว่ารอบนี้ก็สนุกและกันเองใช้ได้ทีเดียว
บัดนี้ ผมนั่งอยู่ที่สนามบินจังหวัดอุบลราชธานี รอคอยเวลาบินกลับกรุงเทพ ฯ การเดินทางแบบมาราธอนของผมในห้วงเวลาต่อเนื่องได้จบสิ้นลง การเดินทางมาพบปะผู้ชมหลากหลาย ทำให้ผมได้ค้นพบตัวเองและเห็นข้อบกพร่องหนังมากขึ้น คราวนี้ ผมคงแก้ลำบาก แต่ผมสัญญาแบบลูกผู้ชายจะแก้ในเรื่องต่อไป หนังต้องสนุก ทุกนาทีของคนดูจะต้องสนุกคุ้มค่า 4 รอบที่ผ่านมานั้น มิอาจเป็นอย่างอื่น นอกจากเป็น 4 รอบแห่งแรงบันดาลใจของผม พี่ไพฑูรย์ ธัญญา และน้อง ๆ คนรักหนังกลุ่มอีสานฟิล์ม ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของปีนี้ พวกเรามีโครงการจะทำหนังเกี่ยวกับอีสานร่วมกัน…!
******************
บุญส่ง นาคภู่
15 กุมภาพันธ์ 2554
15 กุมภาพันธ์ 2554
No comments:
Post a Comment