Friday, February 11, 2011

เสียงสะท้อนจากนานาชาติ

เมื่อคืนวันที่ 24 มกราคม 2554 รอบเวลา 19.30 . ผมเอาหนัง “คนจนผู้ยิ่งใหญ่” ไปฉายที่สวนพันพรรณของโจน จันใด ปราชญ์แห่งบ้านดินและชีวิตทางเลือก สวนที่ตั้งอยู่บนเนินเขา บ้านแม่โจ้ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ พลันที่ผมได้เดินอยู่กลางสวนป่า และพบฝรั่งต่างชาติหลากหลายเดินไปมา ผมก็เริ่มแน่ชัดในเป้าหมายของการมาที่นี่ มิใช่เพื่ออวดอ้างหนังตัวเอง แต่เพื่อให้แน่ชัดว่า ผมจะเอาอย่างไรกับการส่งหนังเรื่องนี้ไปนานาชาติ

ช่วงเฉลิมฉลองปีใหม่ ครูช่าง-ครูทางการละครของผมโทรหา กูจะเอาละครเร่ไปเล่นที่สวนพันพรรณ แล้วมึงทำไมไม่เอาหนังมาฉายที่นี่บ้าง? ครูสะกิดต่อมความทรงจำที่พร่าเลือนของผม ใช่  ผมลืมไปเสียสนิท โจนกับผมเป็นเพื่อนทางจิตวิญญาณกันมานานหลายปี และผมก็รู้ชัดว่า ที่นั่น ที่ที่โจนอยู่ มันงดงามและบริสุทธิ์ยิ่ง ผมโทรหาโจนทันที แล้วอีกสามวันต่อมา เราก็กำหนดวันฉายกัน เรื่องมันเกิดขึ้นและดำเนินไปง่าย ๆ แบบนี้

คืนก่อนวันฉาย ผมเดินทางด้วยรถทัวร์เช่นเดิม ตามประสาคนเบี้ยน้อยร่อยหรอ ออกเดินทางสามทุ่มครึ่ง หกโมงเข้าก็ถึงเชียงใหม่ และสาย ๆ ก็ถึงสวนพันพรรณ ด้วยมอเตอร์ไซค์รับจ้างป้านิล ความเย็นของอากาศโดยรอบแผ่มากระทบผิวกายผมยะเยือก ผมเดินลัดสวนมะขามหวานขึ้นไปบนเนินเขาที่ตั้งของสวน ระหว่างทางผมเก็บมะขามมากัดกิน มันหวานอมเปรี้ยวอร่อยใจนัก รสชาติแบบนี้เราคงจะหาไม่ได้ในเมือง มันมิได้หายไปไหน แต่อยู่ที่นี่มานานแล้ว เพียงแต่เราหลงลืมไป รสชาติของธรรมชาติ รสชาติแห่งรากหญ้า



หลังขนมจีนน้ำยาปลาช่อนมื้อค่ำและมะเขือเทศนานาพันธุ์ผ่านพ้นไป เสียงระฆังก็ดังขึ้น ผมถามว่า เสียงนั่นเป็นสัญญาณอะไร? ฝรั่งร่างสูงหันมาบอก สัญญาณแห่งการดูหนัง ข่าวการมาฉายหนังของผม มีมาก่อนหน้านี้สองสามวันแล้ว “หนังเรื่องนี้เพิ่งเสร็จหมาด ๆ ยังไม่เคยฉายที่ไหนมาก่อนเลย ควันยังลอยกรุ่น” ผมได้ยินโจนคุยกับใครซักคนทางโทรศัพท์ และหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ชั่วสิ้นเสียงกังวานของระฆังไม่นานนัก ฝรั่งนานาชาติและคนไทยไม่กี่คนก็เดินมานั่งในห้องประชุมที่ทำจากดินพร้อมหน้า จอผ้าดิบสีขาวง่าย ๆ กางรอตั้งแต่หัววัน แม้เชื้อราจะเริ่มจับเป็นเป็นจุดด่างดำ แต่ก็ยังคงความขรึมขลัง จะมีคุกแห่งการครอบครองใดกักขังเราได้อีก หากเราเชื่อมั่นในอิสรภาพ ผมว่าไม่มี อุปกรณ์การฉายเราง่าย ๆ แค่โน้ตบุ้คและโปรเจ็คเตอร์เท่านั้น  โชคดีที่มันเป็นโปรเจ็คเตอร์ความคมชัดสูง ความสวยใจอิ่มเอิบของหนังแผ่ซ่านออกมาได้ บัดนี้ เห็นฝรั่งจากนานาชาติมาออกันละลานตา ทำให้ผมรู้สึกราวกับอยู่ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ เมื่อเย็นโจนบอกผม ฝรั่งที่ทดลองมาใช้ชีวิตทางเลือกอยู่ที่นี่ มาจากหลากหลายประเทศ ที่มากสุดน่าจะเป็นอเมริกา รองลงมาก็อังกฤษ ฮอลแลนด์ ออสเตรเลีย อิตาลี เกาหลี ญี่ปุ่น และที่พอมีบ้างหลอมแหลมก็คือพี่ไทยของเรานั่นเอง เป็นที่รู้กันว่า คนไทยเรานั้นส่วนใหญ่กำลังหลงระเริงกับการไหลตามกระแสอยู่

โจน จันใดมอบหมายให้น้องคนหนึ่งเป็นพิธีกร ชื่ออะไรผมจำไม่ได้ เป็นคนไทย เก่งภาษาอังกฤษ เรียนจบภาพยนตร์จากธรรมศาสตร์ นิยมการดูหนัง เป็นลูกศิษย์อาจารย์บรรจง โกศัลยวัฒน์ ที่น่าสนใจ คือ การชื่นชอบการใช้ชีวิตแบบทางเลือก และเบื่อวงการหนังไทย เสียงบ่นกับอย่างน้อย 3 ครั้งว่า วงการหนังไทยมันไม่มีที่ให้คนอย่างเขายืนยังก้องในรูหูของผม เขาพูดภาษาอังกฤษ ผมพยายามพูดภาษาไทย ฝรั่งจากนานาชาตินั่งฟัง เริ่มต้นด้วยการเกริ่นนำเกี่ยวกับตัวผมเล็กน้อย ผมวาดภาพในสำนึกว่าตัวเองยืนอยู่บนเวทีหน้าจอหนัง แสงส่องมากเบื้องบนลงมาที่ตัวผม คำถามมากมายประดังเข้ามา ผมมาจากไหน ทำอะไร เกี่ยวข้องอะไรกับโจน จันใด เท่าที่ผมพอจะจำได้ ผมตอบไปตามสัญชาตญาณประมาณว่า ผมเคยทำหนังตลาดมาก่อน แต่ล้มเหลว โจนเป็นเพื่อนทางจิตวิญญาณของผม ที่นี่เป็นที่พักพิงใจเวลาที่จิตวิญญาณผมหลงทาง ผมเป็นลูกหลานชาวนา หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของพ่อแม่พี่น้องของผม เป็นหนังอิสระเรื่องแรกที่ผมทำด้วยความสุขอย่างที่สุด หลังจากเข้าวงการหนังไทยมานับสิบปี ผมมาที่นี่ ด้วยความสมัครใจ ปราศจากผลประโยชน์ทางวัตถุ และมิได้คาดหวังสิ่งใดล่วงหน้า จนกระทั่งก้าวย่างมาถึง จุดประสงค์ค่อยตามติดมา ผมอยากรับฟังความคิดเห็นอันบริสุทธิ์ ทุกกระแสเสียงคือคำตอบว่า ผมจะเอาอย่างไรกับการส่งหนังเรื่องนี้ไปเทศกาลนานาชาติ?


ช่วง 80 นาทีระหว่างหนังฉายช่างเงียบสงัด เป็นช่วงที่ทุกคนต่างอยู่ในโลกส่วนตัว ใช้มุมมองความคิด ความรู้สึก ประสบการณ์ และทั้งหมดในชีวิตเฉพาะตัว เพื่ออ่านและวิเคราะห์หนัง ผมทำหนังเรื่องนี้ด้วยจุดประสงค์จะเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ใช้ประสบการณ์ส่วนตนสร้างเรื่องราวและอารมณ์ความรู้สึก เป็นช่วงที่ระทึกที่สุดสำหรับคนทำหนัง มันคือกระจกสะท้อนความดีงามของตัวหนัง ผมแอบมองปฏิกิริยาคนดู ฝ่าความมืดออกไป ทุกคนเพ่งมองไปที่แสงสว่างบนจอ สงบนิ่งดิ่งลึกและตั้งใจเต็มที่ ชอบไม่ชอบ ผมทราบดี ความรู้สึกเป็นเรื่องลึกลับเกินกว่าจะไปหยั่งรู้ ทุกคนมีอิสรภาพจะคิดจะรู้สึก ส่วนใครจะพูดออกมาหรือไม่นั้นมันอีกเรื่อง เวลาผ่านไปอย่างเนิบช้า ตามจังหวะอ้อยอิ่งดิ่งลึกของหนัง แล้วหนังก็จบลง เสียงปรบมือดังกราวหนักแน่นดังพร้อมกับแสงไฟที่แว่บวับสว่างไสว ผมเครียดเล็กน้อย ปลอบใจตัวเอง มันเป็นธรรมเนียมอย่าคิดเข้าข้างตัวเองเกินจริง ดูจบก็ต้องปรบมือให้กำลังใจ

การพูดคุยถามตอบช่วงแรก ๆ ดำเนินไปอย่างนุ่มนวล เพราะต่างพยายามรวบรวมความคิดความเห็นอยู่ จนกระทั่งคนหนึ่งพูดนำขึ้นมานั่นแหละ คนอื่น ๆ ก็ทยอยตามมา และมาไม่ขาดสายตลอด 40 นาทีหลังจากนั้น ผมจำไม่ได้ทั้งหมด ด้วยไม่ได้พยายามจำ เพราะต้องสมาธิอยู่ที่การฟังและตอบคำถาม แต่เท่าที่พอจะรำลึกได้ส่วนใหญ่เป็นคำถาม ไม่ได้ถามว่าเรื่องเป็นไปอย่างไร ใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร ซึ่งหมายถึงการดูไม่รู้เรื่อง แต่เป็นคำถามเชิงแรงบันดาลใจ และเหตุผลที่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ในหนัง กว่าค่อนที่แสดงความเห็นชื่นชมว่า หนังจริง งดงาม และเรียบง่ายมาก ที่สำคัญมันเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ใช้ความคิดความรู้สึกอย่างหนักหน่วง แต่ก็สนุกดี ผมถามกลับว่า เข้าใจเรื่องราวทั้งหมดของหนังไหม? เขาตอบว่าเข้าใจ บางคนบอกเล่าจุดเล็ก ๆ ในหนังที่ผมแอบซ่อนไว้ด้วย นั่นทำให้ผมประหลาดใจ เพราะจากที่ฉายมาหลายรอบในไทย ไม่เคยมีใครพูดถึงจุดเล็ก ๆ นั้นมาก่อน คนไทยเมียฝรั่งคนหนึ่งบอกว่าชอบมาก เพราะมันจริงยิ่งกว่าจริง ความจริงคือจุดเด่นที่สุดในหนังเรื่องนี้ บางคนถามว่า ผมได้ส่งไปเทศกาลหนังต่างประเทศหรือยัง? ผมบอกยัง คิดว่าจะส่งหลังจากฉายวันนี้ ผมถามกลับว่า พอจะส่งไปได้ไหมครับ? นั่นเองก่อให้เกิดความเห็นมากมายตามมา ส่วนใหญ่บอกให้ส่ง โลกนี้มีเทศกาลหนังมากมายตามรสนิยมของคนดู หนังแบบนี้น่าจะต้องรสนิยมของคนจำนวนไม่น้อยแน่ โดยเฉพาะคนในยุโรป ซึ่งพวกเขามีรากฐานทางวัฒนธรรมและการศึกษา พวกเขาชื่นชอบหนังที่เปิดโอกาสให้พวกเขาคิดและรู้สึกเอง เพราะพวกเขาเชื่อว่าตัวเองฉลาดพอ ผมรู้ว่าเป็นความเห็นเชิงให้กำลังใจ แต่ชะตากรรมนั้นเป็นเรื่องของผม ผมพยายามอ่านเข้าไปในดวงตา เพื่อค้นหาความจริงแท้ของชาวต่างชาติพวกนี้ เพราะคำพูดนั้นเชื่อยาก ผมไม่พบความเสแสร้งในนั้น อย่างน้อยก็โดยมวลรวม พวกเขาไม่ได้มีผลประโยชน์ร่วมกับผม จึงไม่มีอะไรจะเสีย พอจะเชื่อได้บ้างไม่มากก็น้อย ผมต้องฉายอีก เพื่อค้นหาความมั่นใจในการส่งหนังเรื่องนี้ไปยังเทศกาลหนังนานาชาติ และสำหรับการทำหนังเรื่องต่อไป ผมจะต้องหาจุดร่วมที่ลงตัวในการเล่าเรื่อง เพื่อให้ผู้ชมเข้าถึงแก่นแท้ใจความของหนัง จะเล่าแบบเนิบนิ่งเปิดช่องว่างให้ผู้ชมคิดตาม ฉากละคัท หรือจะพยายามเร้าและกระตุ้นเมื่อถึงเวลาที่ต้องทำ เจาะภาพแคบได้ต้องเจาะ เคลื่อนกล้องได้ต้องเคลื่อน เน้นได้ต้องเน้น เพื่อให้ง่ายต่อการรับรู้และเข้าใจของผู้ชม เป็นข้อค้นพบของผม อันที่จริงมันอออั่งในหัวใจทุกขณะจิตเมื่อลุกขึ้นมาทำหนัง ซึ่งผมค้นพบจากการสะท้อนกลับของผู้ชมในประเทศไทย ทั้งหมดเป็นคำถามที่ผม ในฐานะคนทำหนังและงานศิลปะ ต้องตอบให้ชัดก่อนจะลุกขึ้นมาทำหนังเรื่องต่อไป และการค้นหาคำตอบให้ชัดเจนนั้น นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งยวดของการตระเวนฉายหนังทั่วประเทศของผม         


อากาศหนาวเย็นลงทุกขณะ หมดสิ้นแล้วคำถาม พวกเขาน่าจะแจ่มชัดในความคิดและความรู้สึก ผมบอกลาพวกเขากลับตั้งแต่ตอนนั้น เพราะต้องตื่นตี 5 ไปขึ้นเครื่องบินให้ทัน ผมขอบคุณโจน จันใด เพื่อนทางจิตวิญญาณของผมที่เปิดโอกาสให้หนังของผมได้เชื่อมโยงความคิดความรู้สึกกับผู้ชมต่างชาติ ขอบคุณทุกคนที่เสียเวลานั่งดูหนังของผมจนจบ และความคิดเห็นอันสร้างสรรค์ทั้งหมด ผมสัญญาว่า ถ้าหนังเรื่องต่อไปของผมเสร็จสมบูรณ์ ผมจะเอามาฉายที่นี่อีก พวกเขาปรบมือกราวใหญ่ นานสัก 2 นาทีได้ ผมเพิ่งเข้าใจ การได้รับการปรบมือให้นาน ๆ นั้นเป็นอย่างไร นึกย้อนไปถึงครูทางภาพยนตร์ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย  ที่ได้รับการปรบมือยาวนานยิ่งกว่าผมหลายเท่าหลังหนังจบ คำชื่นชมมันไม่มีคุณค่าอันใดหรอก นอกจากมันคือกำลังใจให้คนตัวเล็ก ๆ อย่างเราลุกขึ้นมาทำหนังให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป เท่าที่สติปัญญาและเรี่ยวแรงจะทำได้ แม้หนังเรื่องนั้นแทบจะไม่มีรายรับกลับคืน เมื่อสิ้นสุดรอบการฉาย และมวลชนส่วนใหญ่ในบ้านเกิดแทบไม่รู้จัก อากาศของเชียงใหม่หนาวเหน็บจับกระดูก และยิ่งหนาวหนักทวีคูณตอนที่ผมนั่งรถสองแถวแบบเปิดโล่งไปยังสนามบิน ทว่าผมกลับยิ้มอย่างอบอุ่นและเต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์!
************************
บุญส่ง   นาคภู่
ที่ใดที่หนึ่งในประเทศไทย
31 มกราคม 2554

No comments:

Post a Comment