Thursday, October 28, 2010

ผู้ชายชื่อ บุญส่ง นาคภู่ และ “คนจนผู้ยิ่งใหญ่”



“ที่ผมเริ่มต้นจากการทำหนังสั้น เพราะว่าเริ่มต้นด้วยการอยากเข้าวงการทำหนังยาว อยากทำ แต่มันยากมากในยุคนั้น เรายังไม่มีผลงาน เราก็เลยต้องสร้างหนังสั้นก่อน ทำหนังสั้นเพื่ออะไร? ก็เพื่อให้มีปากมีเสียงมากขึ้น”
นี่คือประเด็นแรกที่ผมเริ่มต้นในการสนทนากับเขา  ชายหนุ่มวัย 40 กว่า
ที่ตลอดชีวิตคลุกคลี่กับวงการหนังอยู่เรื่อยๆ
และสำหรับคนดูหนังสั้น ชื่อของบุญส่ง นาคภู่เริ่มเป็นที่รู้จักของพวกเขาก็เมื่อตอนที่ “ตากับหลาน” ได้ปรากฏสู่สายตาผู้คน
หนังที่คว้ารางวัลชนะเลิศ จากเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ ด้วยเรื่องราวที่สะท้อนถึงความยากแค้นของคนชนบท
การต้องเดินทางเข้ามาในตัวเมืองเพราะบ้านเกิดไม่สามารถฝากความหวังใดๆ ไว้ได้อีก
ต่อด้วย “ชาวนากลับบ้าน”
ที่แสดงให้เห็นถึงความสับสนของคนต่างจังหวัดที่ต้องมาอยู่ในโลกใบใหญ่ ที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน ความเห็นแก่ตัว และความแล้งน้ำใจ
และหนังสั้นเรื่องล่าสุดอย่าง “เด็กชายกับใบโพธิ์” ที่แม้จะเป็นเรื่องเชิงแฟนตาซี
แต่ก็สื่อให้เห็นความเชื่อมั่นในมนุษย์ของชายผู้ซึ่งกำกับมันเป็นอย่างดี

บุญส่งเกิดที่อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย และครอบครัวของเขามีอาชีพเป็นชาวนา เขาตามความฝันที่อยากจะเป็นเหมือน “สรพงษ์ ชาตรี” ดารานักแสดงในดวงใจ
โดยการเข้ามาในกรุงเทพฯ ลงเอยด้วยการศึกษาที่ภาควิชาการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และทำไปทำมาติดใจเสน่ห์ภาพยนตร์แทน ช่วงปี พ.ศ.2536 เขาเข้าไปเป็นผู้ช่วยผู้กำกับให้แก่ภาพยนตร์เรื่อง “สมองกล คนอัจฉริยะ” ของนำโชค แดงพุด (เสียชีวิตไปแล้ว)
และลงมือทำหนังสั้นหลายต่อหลายเรื่อง  ตามมาด้วยการทำงานเบื้องหลังกองถ่ายหนังในฐานะผู้ฝึกสอนการแสดง (Acting Coach)
ให้แก่หนังอย่าง “บางระจัน” และ “ทวิภพ” และร่วมแสดงในหนังอย่าง “15 ค่ำเดือน 11”, “ฟอร์มาลีนแมน รักเธอเท่าฟ้า” , “แม่เบี้ย”
และอื่นๆ อีกมากมาย  ก่อนจะลงมือทำหนังยาวเรื่องแรก “191 ครึ่ง มือปราบทราบแล้วป่วน” กับค่ายซีเอ็มฟิล์ม
ซึ่งเหมือนผู้กำกับไม่แน่ใจว่าจะเน้นเนื้อหาสาระดีหรือเน้นความบันเทิงดี  ลงท้ายก็เลยไม่ได้ทั้งเงินและไม่ได้ทั้งกล่อง

“เป้าหมายในหนังเรื่องแรกคือการได้สำแดงพลัง ในวัยหนุ่มน่ะ
อยากจะทำหนังมาก อยากทำเหลือเกิน อยากพิสูจน์ว่าเราทำได้ไหม
อยากลองดูความเข้าใจที่เรามีในระดับหนึ่งน่ะ  อยากลองความรู้ความสามารถทางภาพยนตร์ที่มี
แล้วก็อดไม่ได้ ด้วยความที่คาแร็กเตอร์ส่วนตัว จริงใจกับตัวเองมาก
โกหกตัวเองไม่ได้ ก็พยายามเล่าเรื่องที่ตัวเองอยากจะเล่า ยัดเข้าไป
มันก็เลยกลายเป็นอีหลักอีเหรื่อไปหมด จริงไหม?
คือไม่ได้พุ่งไปตามแนวทางนายทุนร้อยเปอร์เซ็นต์
แล้วก็ไม่ได้พุ่งไปตามแนวทางของเราร้อยเปอร์เซ็นต์”

จากนั้น ผลงานกำกับต่อมาก็คือ “ปอบ”หนึ่งในหนังสั้นสี่ตอนของภาพยนตร์เรื่อง “หลอน”
ที่ดูเหมือนจะขยับเข้าใกล้สิ่งที่เขาอยากทำมากขึ้น
 ตัวของหนังสั้นเองก็ได้รับคำวิจารณ์ในด้านบวกไม่น้อย

“พอมาทำเรื่อง “ปอบ” ก็พบว่า นี่มันแนวที่เราถนัดนี่หว่า  เราค้นพบว่าเราถนัดเรื่องชาวบ้าน
เราถนัดเรื่องชีวิตคนอีสาน ถนัดเรื่องการด้นสด  คือ ได้สำแดงการทำหนังในแบบของเรา
“ปอบ” นี่เป็นต้นแบบของหนังที่เพิ่งทำไปเลยนะ  แบบ กำกับคนดูกำกับยังไงว่ะ?
นี่ แบบนี้แหละที่ทำให้คนดูหายใจไม่ทัน ”

หลังจากนั้น บุญส่งก็พยายามนำเสนอโปรเจ็คท์กับค่ายหนัง ควบคู่ไปกับการเลี้ยงชีพด้วยการเป็นอาจารย์ ในฐานะอาจารย์
เขาจะเคี่ยวกรำอย่างเต็มแรง  จะพยายามบีบค้นให้ศักยภาพที่แท้จริงของลูกศิษย์ออกมาให้ได้   นอกจากในฐานะอาจารย์ เขายังทำงานในกองถ่ายบ้าง
แต่เป้าหมายสูงสุดของเขายังคงเป็นการทำหนังกับสตูดิโอ ซึ่งเขายอมรับว่าอยาก เพราะจะต้องทำการปั้นหน้าหนังให้มีจุดขาย

“ถ้าคุณเก่งเรื่องการขาย  เรื่องการหลอกล่อคนดู เรื่อง Mass น่ะ ก็จะสามารถทำหนังที่ได้เงินเยอะ  หรือคุณช่ำชองมากในการทำตามโจทย์ ตีโจทย์ทะลุ คนดูชอบปุ๊บ หนังได้เงิน
เมื่อได้เงินปุ๊บก็สามารถมีอนาคตของการเป็นคนทำหนังต่อไปได้ ในวงการหนังไทยยุคนั้น ถ้าทำหนังได้เงินถือว่าเก่ง
หนังดีไม่ดีเป็นเรื่องที่สอง แต่ หนังที่ประสบความสำเร็จทั่วโลก มักจะคู่ตามกับความเป็นหนังดีนะ
คือแม้บางเรื่องจะไม่ได้เป็น Mass ก็ตามแต่ก็เป็นหนังดี ก็โอเคนะ  แต่ประเทศไทยมันเอาแบบนั้นมาสรุปไม่ได้
คนไทยจะแบบ หนังได้เงินอาจจะไม่ใช่หนังดี แต่มันโดน อย่างหนังที่ได้ร้อยล้าน
คนทำก็จะเป็นเทพ  ก็จะสบายไป แต่ของผมบังเอิญไม่ได้เงิน  มันก็เลยต้องหยุด แต่ใจเราไม่เคยหยุดเลย”

สุดท้าย ผู้กำกับวัยเกือบ 40 ก็ตัดสินใจที่จะทำหนังด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง  เขาขอยืมเงินจากภรรยามาในหลักแสน พร้อมสัญญาที่จะชดเชยคืนให้ในภายหลัง
พร้อมด้วยเรื่องที่เขามั่นใจว่า กลั่นออกมาจากความคิดและชีวิตของเขาจริงๆ
“คนจนผู้ยิ่งใหญ่” เล่าเรื่องของวิถีชีวิตชาวนา  ซึ่งต้องประสบวิบากกรรมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้กับธรรมชาติเพื่อให้ผื่นนาที่รักยังคงดำเนินต่อเนื่อง ไปได้
การกู้หนี้ยืมสินเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด และการต่อสู้กับความขัดแย้งระหว่างตัวเองและผู้คนรอบข้าง
บุญส่งนำเอาเรื่องชีวิตของพี่ชายของเขา ซึ่งเป็นชาวนาคนหนึ่งในประเทศไทยมานำเสนอผ่านทางภาพยนตร์

“เรื่องนี้มาจากไหน? มันอยู่ในก้นบึ้งจิตวิญญาณมาหลายสิบปีแล้ว
เป็นหนึ่งใน 30 โปรเจ็คท์ที่เราอยากทำมาตลอดชีวิต เรื่องมาจากข่าวคราวที่เราได้ยินได้ฟัง
คือ บ้านพี่เขาเป็นชาวนา ทุกครั้งที่ได้ยินข่าวคราว จากทางโทรศัพท์บ้าง จากการกลับไปเยี่ยมบ้านบ้าง
ความเป็นไปของเขาที่สั่งสมมาตลอดหลายสิบปีนับแต่เราจากบ้านเกิดไป
ก็สะสมเป็นเชื้อ ที่เราต้องลุกขึ้นมาเล่า เล่าเพื่ออะไร เล่าเพื่อให้พ่อแม่พี่น้องได้มีพื้นที่
เพื่อให้คนเข้าใจเขาบ้าง คือ มันมีช่องว่างระหว่างคนชนชั้นกลางกับคนชั้นนอก ใช่ไหม?  บนจอภาพยนตร์ ในโรงหนัง หรือในทีวีไม่เคยมีเรื่องของคนพวกนี้เลย
มีแต่เรื่องแต่งประโลมโลกที่คนเล่าไม่เข้าใจเรื่องราวน่ะ  เราเป็นลูกชาวนานี่หว่า เราลองเล่าดิ  ก็เลยกลายมาเป็นเรื่องราวของพี่ชายผมเอง
ที่ชีวิตของเขามีปัญหามีความทุกข์เยอะ เรื่องของหลานเรา เรื่องของญาติพี่น้องของเรา
เอาเรื่องจริงมาขยี้ มาขับเน้น มาปรุงแต่งให้มันสะเทือนอารมณ์  แต่จะมีส่วนที่เป็นเรื่องจริง 70 เปอร์เซ็นต์เลยนะ ที่เหลือคือการขยี้อย่างที่ว่าไป”

แต่ด้วยเงินจำนวนที่ไม่มาก บวกกับการต้องดูแลจัดการควบคุมทุกอย่างด้วยตัวเอง
ทำให้เรื่องที่เหมือนจะง่ายกลับไม่ใช่เรื่องง่ายเลยของผู้กำกับท่านนี้
แน่นอนว่าก่อนเริ่มงาน เขาต้องมีความกังวลเรื่องการทำงานบ้าง

“กังวลอยู่เหมือนกัน แต่ความกังวลเกิดจากอะไร? เรากังวลเพราะหวังว่าหนังต้องยิ่งใหญ่
ก็มาคิดว่า จะทำให้ความกังวลนี้หายไปได้ยังไง ก็มาลดรูปมัน ลดรูปแบบลดฟอร์ม ลดวิธีการกระบวนการทั้งหมด
ให้มันเล็ก แต่เนื้อหาจะไม่ลดนะ จะไม่มีการประนีประนอม เราจะเล่าในแบบที่อยากเล่า 
เล่าสิ่งที่รู้จักจริงๆ ถ้าจะทำหนังเรื่องแรกและเรื่องเดียว ก็จะทำเรื่องนี้  ไม่ทำเรื่องอื่น
พอได้เงินมาก็เอาเลย คิดสเกลในแบบที่เราสามารถควบคุมได้ วิธีการทำหนังเป็นอย่างไร
กลับบ้านเกิด ไปหาพ่อแม่พี่น้อง ในหมู่บ้านของเราที่เรารู้จักคนเกือบหมด เอาญาติพี่น้องเล่น
แต่เป็นเรื่องราวที่เราอยากเล่าและยิ่งใหญ่   แล้วความกังวลก็จะลดลงไป เพราะเราควบคุมได้”

เมื่อได้เงินทุน  บุญส่งก็หาคนที่ใจตรงกันมาร่วมงาน โดยเขามีทีมงานที่ออกไปถ่ายทำด้วยเพียง 10 คนเท่านั้น
ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับหนังปรกติ หรือเมื่อไปเทียบกับหนังอินดี้ด้วยกันเองก็ตาม
และที่สำคัญ ความที่ทีมงานและเงินน้อย ทำให้การทำงานไม่ใช่เรื่องสบายๆ แม้แต่นิดเดียว
บุญส่งต้องทำการตกลงกับทีมงานไว้ก่อนว่า  พวกเขาอาจจะต้องเจอความลำบาก และต้องทำงานหนักกว่าหนังทั่วๆ ไป รวมไปถึงการใช้ชีวิตในกองถ่าย ที่อาจจะต้องเปื้อนดินคลุกฝุ่น บุกป่าผ่าดง หรือเวลาทานข้าวก็เป็นฝีมือของชาวบ้านในโลเคชั่น
น้ำท่าหากหิวกระหายก็จะต้องหาทางช่วยเหลือตัวเอง  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีให้พบเห็นในกองถ่ายหนังทั่วๆ ไป

“ก่อนหน้านี้ เราก็เล็งไว้แล้วว่า ใครที่สามารถทำงานฟรีได้ และมีอุดมการณ์เดียวกัน ใครที่แบบสามารถรับการที่แบบ ‘จ่ายทีหลัง ตอนนี้พี่ไม่มี ทำงานให้พี่ก่อนได้ไหม’
ใครที่มีเวลา 10 กว่าวันที่จะไปลุยกับเราได้ ก็เลือกคนประเภทนี้   แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นลูกศิษย์ลูกหา
น้องนุ่ง ที่สนิทกัน เข้าใจกัน อย่างตากล้องซึ่งก็คือเปียค่าตัวปรกติเขาเยอะ เวลาสิบวันก็หมายถึงเงินที่เยอะที่เขาควรจะได้หายไป
เขาก็มาช่วยเราฟรี  เราก็นับถือในน้ำใจของเขา คือเราเคยไปช่วยเขา เขาก็มาช่วยเราบ้าง แล้วเขามีสปิริตมาก
เขาเคยทำหนังที่มีอุปกรณ์อะไรให้เขาเยอะแยะ แต่มาทำเรื่องนี้โดยที่ไม่มีไฟให้เขาเลยสักดวง  อาศัยแสงธรรมชาติอย่างเดียว.

เมื่อถึงเวลาทำงานจริงๆ การทำงานก็ไม่ได้เป็นไปแบบเร่งรีบนัก
อย่างเช่นที่ผู้กำกับภาพ ธีระวัฒน์ รุจินธรรม ได้เล่าไว้ว่า การถ่ายทำหนังเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เขาไม่เคยได้สัมผัสจากหนังเรื่องไหนมา ก่อน

“ทีมงานบางคนมองว่าไม่น่าอยู่มารอดถึงถ่ายเสร็จก็อยู่ได้ตลอด  มันก็โอเค
คุณไม่ต้องเก่งก็ได้ ไม่ต้องมีประสบการณ์ก็ได้ แต่ต้องมีใจให้   คือไม่มีปัญหากัน
แต่มีอยู่เรื่องหนึ่ง ตอนแรกสืบจะให้นอนบ้านดิน พอเราเปิดประตูเข้าไป
ใครบอกว่าบ้านดินเย็นว่ะ? โคตรร้อนเลย  นอนคืนเดียวไม่ไหว  ต้องไปหาห้องนอนที่แบบโอเค ตอนนอนต้องพักผ่อนเต็มที่นะ
ก็ไปเจอโรงแรมแห่งหนึ่ง มีสระว่ายน้ำในตัว ก็ย้ายไปนอนที่นั้น ทีมงานวันต่อมาก็เลย
พอถ่ายเสร็จก็ลงแช่น้ำแล้วก็กินเบียร์เย็นๆ   ตารางการทำงานไม่เร่งมาก
บางวันถ่ายไปไม่ไหวแล้วร้อน เบรกไปเที่ยวน้ำตกก็มี  ถ่ายไปเล่นไป ผมก็เพิ่งเคยเจอเหมือนกัน”

ในส่วนของบท  บุญส่งมีบทเพียงคร่าวๆ เพื่อเอาไปประกอบกับการทำงานแบบด้นสดหน้ากองถ่าย เพราะเขาตั้งใจว่าจะไม่ใช่นักแสดงอาชีพ
และเขามองเห็นก่อนเริ่มถ่ายว่า ทุกอย่างจะเป็นธรรมชาติได้หากไม่มีการไปกำหนดกะเกณฑ์การแสดงให้มากมาย

“เพื่อให้เกิดภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในหนังไทย  หลังจากหนังเรื่อง “ทองปาน” มาแล้วนี่ ไม่เคยมี
เอาชาวบ้านจริงๆ มาเล่น หน้าดำๆ ที่ไม่เคยเล่นหนัง ไม่รู้จักไม่เคยเรียนแอ็คติ้ง ดูแต่ละครทีวี มาเล่นหนังในแบบที่ปราศจากการปรุงแต่งใดๆ
วิธีการทำหนังเรื่องนี้คือ เตรียม 50 เปอร์เซ็นต์ แล้วที่เหลือคือการด้นสด ที่ว่าเตรียมก็คือ จะถ่ายกี่ฉาก ใครเล่นบ้าง ก็ไปติดต่อทาบทามเขาไว้
เขาไม่เคยเล่นเลย ก็ไปเล่นกันสดๆ ตรงนั้น เรามีเรื่องราวอยู่ในหัวอยู่แล้ว เราจะกำกับเขายังไง
ให้ทิศทางแก่เขาให้เขาสามารถเล่นได้  แต่ให้เขาพูดไดอะล็อคแบบเขา  เดินในแบบของเขา  คือ ง่ายมากเลย 
ซึ่งเขาเล่นดีมากเลย เล่นแบบเนียร  ไม่ใช่เล่นแบบดาราละคร   คือ เล่นเป็นตัวเขาน่ะ คือการเล่นเป็นตัวเขานี่ยากที่สุดเลย  คือ อย่างหนังปรกติก็จะมีแบบการแสดงที่มีบล็อกกิ้งชัดเจน
ตัวละครเดินไปหยุดอยู่ตรงไหนในฉาก คือ เราก็จะมีบ้างแต่ก็ปล่อยให้เขาเป็นอิสระ  ภาพก็เป็นแบบ open”

การถ่ายทำทั้งหมดใช้เวลาสิบวันเท่านั้น และตอนนี้หนังก็อยู่ระหว่างการตัดต่อ โดยอุรุพงษ์ รักษาสัตย์  มือตัดต่อหนังอย่าง “102 ปิดกรุงเทพฯ ปล้น”
และงานกำกับสารคดี “สวรรค์บ้านนา”  สิ่งหนึ่งที่ผู้กำกับรู้สึกได้เมื่อถ่ายทำหนังเรื่องนี้เสร็จลง
ก็คือการที่เขาได้ค้นพบอิสรภาพในอีกรูปแบบหนึ่ง

“เรารู้สึกว่า ทำไมเราไม่ทำแต่แรก นี่คือวิธีการทำหนังที่เราก็ทำแบบนี้ได้ตั้งแต่ทีแรก ทำไมเราไม่สู้อุตส่าห์เก็บเงินแล้วทำหนังเองแบบนี้
แต่มันก็ยากนะถ้าย้อนไปเมื่อก่อน แต่เดี๋ยวนี้กล้องดิจิตอลมันเยอะ
มันต้องประกอบกันระหว่างบริบททางสังคม ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และการลองผิดลองถูก ถึงจะทำหนังแบบนี้ออกมาได้
เอาเป็นว่า มันถึงเวลาที่ต้องทำแบบนี้แล้วล่ะ  ไม่สามารถโบ้ยความผิดไปยังคนอื่นได้แล้ว  เรื่องนายทุนไม่อนุมัติให้ทำหนัง  มันหมดไปแล้ว
ยุคนี้เป็นยุคของสามัญชน  ยุคของคนทำหนังตัวเล็กๆ ที่คุณสามารถใช้กล้องอะไรถ่ายก็ได้ ขอแค่คุณมีเรื่องที่คุณอยากเล่าจริงๆ  คุณต้องกบฏได้แล้ว
เรื่องการหาทุนต่างประเทศก็ใช้เวลามากเกินไป  สู้ทำงานเก็บเงิน  แล้วหาเพื่อนร่วมงาน คนทำหนังกระแสหลักที่มีสปิริตอย่างนี้  แต่เขาไม่มีโอกาส
คนทำหนังทุกสาขาถูกกด ไม่ให้ได้สำแดงความสามารถ  นักแสดงก็ถูกบีบให้แสดงแบบนั้น ให้สร้างสรรค์แบบนี้  ไม่ได้รับโอกาสที่จะแสดงฝีมืออย่างแท้จริง
ผมว่าคนพวกนี้นะ รอวันที่จะได้สำแดงความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองจริงๆ ด้วยวิธีการทำหนังแบบผมนี้แหละ ที่จะทำให้เขาได้แสดงพลังออกมา”

ทางด้านของธีระวัฒน์ เขาก็ยอมรับว่าการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ก็พาเขาเข้าไปสัมผัสกับสิ่งที่ไม่เคย
ได้สัมผัสมาก่อน และเริ่มที่จะทำให้เขาติดใจการถ่ายหนังอิสระ เพราะที่ผ่านมา
เขายอมรับว่าหนังเรื่องอื่นๆ ที่ถ่าย ก็ล้วนแล้วแต่ใช้สไตล์ภาพแบบหนังเล่าเรื่องทั่วๆ ไป
หรือการวางเฟรมแบบหนังฮอลลีวู๊ด ที่เน้นการเล่าเรื่องให้ง่ายและสื่อสารถึงคนดูได้ในทันที
และไม่มีโอกาสได้ทดลองทำอะไรที่แปลกและแตกต่าง เพราะการทดลอง มักจะหมายถึงการเสี่ยงสำหรับผู้กำกับและนายทุน
ดูเหมือนการถ่ายทำหนังในกระแสหลักจะเน้นการก้าวเดินตามตรรกะง่ายๆ  และการใช้เสียงกับภาพที่ค่อนข้างเป็นสูตรสำเร็จ

“พอมาถ่ายหนังสืบมันไม่มีตรงนี้ มันเป็นอิสรภาพอีกอย่างหนึ่ง บทหนังสืบนี่ อ่านไปอ่านมา
เฮ้ย หนังเรื่องนี้ ต้องทีล่ะซ็อต กล้องเคลื่อนครั้งเดียว  เล่าได้หรือเปล่า  ถ้าเป็นหนังธรรมดา
เราก็ไม่กล้าที่จะคิดแบบนี้นะ ไปเสนอผู้กำกับทีล่ะซ็อต เขาก็คงแบบว่า เออ แล้วจะตัดยังไง แต่ของสืบเขาแบบ ตั้งกล้องนิ่งๆ ทีล่ะคัตๆ
อีกอันหนึ่งผมมีความรู้สึกว่า อย่างหนังสืบเนี่ย ทุกอย่างไม่มีเขี่ยออก ถ่ายตามความจริง อย่างถ่ายหนังปรกติเนี่ย  ก็จะรื้อนู้นนี่ หาโฟรกราวน์
บางทีก็รื้อสิ่งปลูกสร้างออกเพื่อให้ได้ภาพ  แต่เรื่องนี้เนี่ย เราจะทำโดยเคารพความเป็นจริงให้ได้มากที่สุด เราไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
ทำหนังกับสืบเรื่องนี้ทำให้ผมได้สัมผัสกับเสรีภาพบางอย่าง ในการที่จะได้คิด ได้ลอง เพราะเราลองไม่มีอะไรเสี่ยง
หนังสืบไม่ได้ฉายเอาเงินอยู่แล้ว คนไม่ชอบก็ด่า  คนชอบก็โอเค มันไม่มีอะไรเสี่ยง ซึ่งตรงนี้สำคัญ เพราะผมติดใจแล้ว (ยิ้ม)
พอมาอยู่ในการทำงานรูปแบบ mainstream แล้ว โอกาสจะทำแบบนี้มันยาก  คือทำได้แหละ แต่มันมี Level ของมัน แต่นี่คือแบบ
มันหลุดไปอีก track หนึ่งเลย ซึ่งในการทำหนังสตูดิโอ มันไม่สามารถไปได้”

บุญส่งกล่าวถึงเป้าหมายต่อไปของ “คนจนผู้ยิ่งใหญ่” ว่า ความหวังในชีวิตของเขาเมื่อทำหนังเรื่องนี้เสร็จ
เพื่อเป็นการกลับมาอีกครั้งของบุญส่ง นาคภู่ เพื่อได้ทดลองค้นหาเส้นทางในการฉายหนังในต่างประเทศ  หรือการหาทุนมาทำหนังจากต่างประเทศสำหรับการสร้างโปรเจ็คท์ต่อๆ ไป

“ ผมอยากให้คนดูหนังเรื่องนี้เยอะที่สุด โดยเฉพาะคนไทย ผมไม่อยากให้ฝรั่งดูเยอะเท่าไหร่หรอก 
นี่ความฝันนะ แต่เราก็รู้อยู่ เงื่อนไขการดูหนังของคนในประเทศไทยเป็นยังไง  ไม่ใช่หนังผี หนังรัก หรือหนังตลกไม่ดู
คือพูดง่ายๆ ดูแต่หนังเบาๆ ขำๆ ฮาๆ เร้าอารมณ์แบบทั่วๆ ไป  เราก็ไม่โทษคนดูหรอก ผมก็หวังว่าจะมีคนอยากดูบ้าง”

บุญส่งไม่ใช่เป็นแค่คนที่เชื่อในสิ่งที่ตัวเองทำอย่างสุดหัวใจ และลงมือทำอย่างเต็มที่เท่านั้น
แต่เขายังเป็นคนที่พยายามจะทำให้สิ่งที่ลงมือทำบังเกิดเป็นผลลัพธ์ที่ดีที่ สุด
เขาค่อยๆ เห็น “คนจนผู้ยิ่งใหญ่” เติบโตขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าในฐานะผู้กำกับ เขายอมอยากเห็นงานของเขาไปได้ไกล
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า หากเขายังรู้สึกว่าผลงานของเขา  ‘ยังไม่ดีพอ’ แล้วเขาจะยอมปล่อยผ่านไปอย่างง่ายๆ

“สิ่งที่จะตัดสินว่าผมจะไปไหน คือตัวหนัง  ต้องดูว่าหนังมีความเป็นไปได้ว่าไปไหนได้ 
ถ้าไม่ดีผมอาจจะเอาหนังเก็บเงียบก็ได้ แต่ถ้ามันดีพอ ผมจะผลักดันมันไปเท่าที่เหตุปัจจัยจะอำนวย
ผมว่าถ้าหนังดีไม่มีใครหยุดมันได้หรอก  อย่างอาทิตย์ อัสสรัตน์ไปไหน ผมก็อยากไปอย่างเขาได้บ้าง  ส่วนจะฉายเป็นฟิล์มหรือดิจิตอลก็ต้องดูกันอีกที
เพราะอย่าง “สวรรค์บ้านนา” ที่เป็นดิจิตอลก็ฉายได้หลายสิบประเทศแล้ว”

แน่นอนว่า หลังความสำเร็จของ “ลุงบุญมีระลึกชาติ” รวมไปถึง “เจ้านกกระจอก” ในเทศกาลนานาชาติ  ทำให้หลายคนที่อาจจะเคยมองข้ามพลังของหนังอิสระ ให้หันกลับมาพิจารณาถึงอนาคตที่กำลังเรืองรอง
แน่นอนว่าปรากฎการณ์นี้ต้องทำให้หลายคนคาดหวังความสำเร็จที่อาจจะไม่มากเท่า แต่ก็ต้องเป็นในระดับที่น่าพอใจของผลงานหลายๆ เรื่องที่กำลังตามออกมา รวมถึง “คนจนผู้ยิ่งใหญ่” ด้วย

ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า ผลงานกำกับชิ้นที่ 2 ในชีวิตของผู้กำกับอายุเข้าวัยกลางคน ซึ่งเก็บประสบการณ์ผ่านร้อนผ่านหนาวมาในระดับหนึ่ง
จะกลายมาเป็นอีกหนึ่งหนังไทยที่สร้างหน้าตาให้แก่ประเทศ  และสามารถสร้างชื่อเสียงให้เกิดแก่เจ้าของผลงานได้หรือไม่ในวันข้างหน้า


No comments:

Post a Comment